ด้วยเหตุนี้ ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และทีมงาน จึงได้ดำเนิน “โครงการสำรวจสถานการณ์ความพร้อมของสถานที่ผลิตขนมจีน เพื่อบังคับใช้มาตรฐานจีเอ็มพี” โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนจากแหล่งผลิตทั่วประเทศเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์
ดร.ทิพย์วรรณ บอกว่า ที่ผ่านมาหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร กองควบคุมอาหาร ดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีนจากสถานที่ผลิต จำนวน 59 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางด้านจุลินทรีย์ เบื้องต้นคือ ตรวจจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด (Total Plate Count) โคลิฟอร์มแบคทีเรีย (Coliforms) เอชเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus)
ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีนผ่านเกณฑ์จำนวน 54 ตัวอย่าง คิดเป็น 91.52% โดยเมื่อพิจารณาตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5 ตัวอย่างจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีการปนเปื้อนจำนวนจุลินทรีย์ทั้งหมด กล่าวคือ ขนมจีนดังกล่าวมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในปริมาณค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะผลิตมานานแล้ว ใกล้เสีย เริ่มมีกลิ่นบูด จำนวน 3 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย 2 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเอชเชอริเชีย โคไล 2 ตัวอย่าง และมีการปนเปื้อน สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส 1 ตัวอย่าง ทั้งนี้การรับประทานขนมจีนที่มีการปนเปื้อนจุลินทรีย์อาจทำให้ท้องเสียได้
ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีน คือ กรดเบนโซอิก และกรดซอบิกในผลิตภัณฑ์ขนมจีน ได้เก็บตัวอย่างจำนวน 77 ตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีตัวอย่างผ่านเกณฑ์จำนวน 76 ตัวอย่าง คิดเป็น 98.70% ซึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 1 ตัวอย่างนั้นพบว่ามีการใช้กรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานที่ อย.อนุญาตให้ใช้ได้ คือ เกิน 1,000 พีพีเอ็ม (ppm.)
หรือ 1,000 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูดในปริมาณที่มากเกินมาตรฐาน ตับและไตก็ต้องทำงานหนัก หากร่างกายกำจัดออกมาไม่หมดก็จะสะสมในร่างกาย ส่งผลให้การทำงานของตับและไตลดลงจนเกิดปัญหาตามมาได้
ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขนมจีนข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า มีตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะ และการใช้วัตถุกันเสียที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่ฯ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดได้ให้คำแนะนำด้านสุขลักษณะการผลิต และวิธีการใช้วัตถุกันเสียแก่ผู้ประกอบการในแต่ละสถานที่ผลิต
เพื่อดำเนินการปรับปรุงและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย หากผลิตภัณฑ์ขนมจีนที่ผลิตขึ้นนั้น มีผลการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการมาตรฐานซึ่งพบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถือว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) มีโทษตามมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.ทิพย์วรรณ แนะนำวิธีเลือกซื้อขนมจีนว่า ควรเลือกขนมจีนที่ขายแบบวันต่อวัน บรรจุในตะกร้า หรือภาชนะที่สะอาด ปิดผนึกมิดชิด ควรหลีกเลี่ยงการซื้อขนมจีนจากผู้ขายที่ใช้มือหยิบเพราะถ้ามือไม่สะอาด เป็นแผลอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ นอกจากนี้เส้นขนมจีนจะต้องไม่เละ หรือเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นบูด สีของขนมจีนต้องดูสดใหม่ ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า ระหว่างขนมจีนสีขาวใส หรือสีขาวขุ่นแบบแป้งหมัก จะเลือกแบบใดนั้น ขอเรียนว่า แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เพราะสีดังกล่าวเป็นสีของข้าวที่นำมาผลิตว่าเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่เท่านั้น
สรุปว่า ขนมจีนที่เรา ๆ ท่าน ๆ รับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีความปลอดภัยเกือบ 100% มีส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์ และใส่สารกันบูดมากจนเกินไป.
No comments:
Post a Comment
ขอบคุณจ้า..