ข้อเสนอพิเศษ ลองดู

Thursday, 9 June 2011

ขนมจีน กับประเพณีแต่งงาน - เชื่อว่าเป็นนิมิตที่ดีที่คู่บ่าวสาวจะครองรักกันยืดยาว

ประเพณีแต่งงาน
เป็นงานมงคลอีกงานหนึ่งที่มีเรื่องของความเชื่อมาเกี่ยวข้องอยู่หลายประการ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้รวบรวมและสรุปมาบางประเด็นเพื่อเป็นสาระความรู้ ดังนี้





ความหมาย คำว่า “แต่งงาน” หมายถึง
การทำพิธีเพื่อให้ชายและหญิงอยู่กินเป็นผัวเมียตามประเพณี ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่๖ ได้ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า อภิเสกสมรส สำหรับเจ้าฟ้า เสกสมรส สำหรับ พระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า และ สมรส สำหรับข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ ต่อมาสามัญชนได้ใช้ตาม โดยตัดคำว่าเสกออก เพราะเห็นว่าเป็นของเจ้านาย เรียกเพียง สมรส
(คำว่า “เสก”หมายถึง การหลั่งน้ำเพื่อยกให้ ) ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า พิธีมงคลสมรส นอกจากนี้ยังมีคำเรียกในภาษาถิ่นที่แตกต่างกันอีกได้แก่ ภาคพายัพเรียกว่ากินแขก ภาคอีสาน เรียก กินดอง ภาคใต้เรียก กินงานหรือกินเนี้ยว ( คือกินข้าวเหนียวนึ่งโรยน้ำตาลและมะพร้าวขูด)



ภาคกลางบางท้องถิ่นเรียก กินสามถ้วย กินสี่ถ้วย (หมายถึง อาหารว่างที่เลี้ยงในงานแต่งมีสี่อย่างหรือสี่ถ้วยคือ ไข่กบคือสาคูหรือเมล็ดแมงลัก นกปล่อย คือ ลอดช่อง มะลิลอยคือข้าวตอก และอ้ายตื้อคือข้าวเหนียว มีน้ำกะทิใส่ชามอยู่ตรงกลาง ถ้าเป็นสามถ้วยจะไม่มีไข่กบ) จะเห็นว่าแม้จะเรียกต่างๆกัน แต่ก็มีคำว่า กิน อันหมายถึงการเลี้ยงดูญาติมิตรแขกเหรื่อที่มาร่วมแสดงยินดีและเป็นสักขีพยาน

เพราะการแต่งงานของหญิงชายที่จะมาอยู่เป็นสามีภริยากันนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ จึงประกาศให้คนอื่นได้รับรู้ถึงการมาเกี่ยวดองกันด้วย

พระยาอนุมานราชธนได้เขียนไว้ว่า แต่เดิมเจ้านายทรงหาหม่อมห้ามได้ตามใจชอบ ไม่มีพิธีแต่งงาน มามีพิธีแต่งงานเจ้าในสมัยรัชกาลที่๕ เป็นครั้งแรก และสืบต่อเป็นราชประเพณี จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ที่ทรงบัญญัติคำเรียกดังที่กล่าวมาข้างต้น

การแต่งงาน อาจแบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ
วิวาหมงคล คือ การแต่งงานที่ฝ่ายหญิงมาอยู่บ้านฝ่ายชาย ส่วน อาวาหมงคล คือ การแต่งงานที่ฝ่ายชายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง ปัจจุบันมักใช้คำว่า “วิวาห์” หรือ “มงคลสมรส” เป็น คำรวม ๆ มิได้แยกว่าฝ่ายใดจะไปอยู่กับฝ่ายใด


สาเหตุที่ต้องมีขันหมากในการแต่งงาน สืบเนื่องจากสมัยก่อนชาติต่าง ๆ ทางตะวันออก รวมทั้งไทยเป็นชนชาติที่กินหมาก ดังนั้น ย่อมใช้หมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับเพื่อแสดงไมตรีจิต เวลาแขกมาเยือนก็ยกเชี่ยนหมากมารับรอง อันหมายถึง ยินดีต้อนรับด้วยไมตรีจิตถือเป็นกันเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะไปสู่ขอหรือแต่งงานกับลูกสาวใคร ซึ่งเป็นคนต่างบ้านต่างถิ่น แม้จะมีของอย่างอื่น แต่ก็ต้องมีหมากพลูไปคำนับเพื่อแสดงไมตรีจิตด้วย ซึ่งแต่เดิมก็ไม่มีการกำหนดว่าต้องมีจำนวนเท่าใด แต่ต่อมาได้มีการกำหนดว่าควรเป็น ๔ ๘ หรือ ๑๖ เพราะหากแบ่งทอนแล้วก็ยังเป็นเลขคู่เท่ากับเครื่องหมายคู่คือคู่บ่าวสาว และแม้ปัจจุบันจะไม่มีการกินหมากแล้ว แต่ก็ยังมีขันหมากพลูในพิธีแต่งงานอยู่


ขันหมากเอก คือ ขันหมากที่บรรจุหมากพลู และยังมีขันใส่เงินทองหรือสินสอด และขันใส่สิ่งอันเป็นมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงินใบทอง ฯลฯ ส่วนขันหมากโท ได้แก่ ขันหมากที่ใส่อาหารขนม รวมทั้งบริวารขันหมากอื่น ๆ เช่น ต้นกล้วย ต้นอ้อย นิยมจัดเป็นคู่ๆ เพื่อให้ดูสวยงามและเป็นเคล็ดคำว่า “คู่"

วัน /เดือนที่นิยมแต่งงาน มักจะแต่งเดือนคู่
ด้วยถือเคล็ดคำว่าคู่ส่วนใหญ่จะเลือกแต่งเดือน ๒
,, , ๙ และ ๑๒ ส่วนเดือน ๘ แม้จะเป็นเดือนคู่ก็ไม่นิยมด้วยว่าเป็นเดือนแรกเข้าพรรษาจึงเว้นไม่แต่ง เปลี่ยนเป็นเดือน ๙ แทน โดยเฉพาะข้างขึ้น เพราะมีความหมายดีว่า ก้าวขึ้น (เอาเคล็ดตรงเสียง เก้า-ก้าว) เดือน ๑๐ ก็มีคนแต่งบ้าง แต่น้อย ส่วนเดือน ๑๒ แม้จะเป็นเดือนคู่แต่เมื่อก่อนจะถือ ไม่แต่งกัน เพราะว่าเป็นช่วงฤดูสุนัขติดสัด ไม่ควรไปแข่งหรือ เอาอย่างมัน แต่สมัยนี้ก็ไม่ค่อยถือกันแล้ว

ส่วนวันที่ไม่นิยมแต่ง คือ วันพุธ
ว่าเป็นวันสุนัขนามไม่ดี
(ไม่ได้มีคำอธิบายว่าสุนัขนามหมายถึงอะไร) วันอังคารและวันเสาร์ ก็ไม่แต่งเพราะถือเป็นวันกล้าแข็ง เหมาะกับปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หากแต่งอาจจะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย วันพฤหัส ถือเป็นวันครูก็ไม่นิยมแต่ง อีกทั้งมีตำนานเล่าว่าพระพฤหัส แต่งลูกสาวคือนางจันทร์วันนั้น (กับพระอาทิตย์) แล้วลูกสาวมีชู้ (คือพระอังคาร)จึงไม่ควรใช้ นอกจากนี้ ในทางโหราศาสตร์ยังมีวันอุบาทว์และโลกาวินาศที่ต้องระวังด้วย ต้องเลือกเอาวันอธิบดีหรือวันธงชัย จึงจะดี สรุปแล้ว วันที่แต่งได้คือ วันจันทร์ วันศุกร์และวันอาทิตย์ โดยเฉพาะวันศุกร์ เพราะออกเสียงว่า “สุข” มีความหมายที่ดี อย่างไรก็ดี หากทั้งสามวันที่ว่าตรงกับ วันอุบาทว์หรือโลกาวินาศก็ถือว่าไม่ดี ไม่ควรแต่งอีกเช่นกัน

ต้นกล้วยต้นอ้อยที่ใช้ในขบวนขันหมากนั้น
ต้องขุดให้ติดรากหรือมีตาและเลือกตันที่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะขุดมาเป็นคู่และตกแต่งด้วยกระดาษสีให้สวยงาม ต้นกล้วยและอ้อยนี้ บ่าวสาวต้องปลูกร่วมกันเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง คือหากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์และอ้อยก็เติบโตหอมหวาน ก็เชื่อว่าความรักของคู่บ่าวสาวจะราบรื่นหอมหวาน และมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง บางท้องถิ่นอาจจะมีต้นไม้อื่นๆให้ปลูกไปด้วย เช่น หมากพลู ถั่ว งา ข้าวเปลือก ฯลฯ การที่มีพืชผักเหล่านี้ คงเป็นเพราะสมัยก่อนหนุ่มสาวที่แต่งงานใหม่ ต้องมีเหย้ามีเรือนแยกไปจากพ่อแม่ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ จึงต้องปลูกพืชพันธุ์ผัก ผลไม้ที่เป็นอาหารอันจำเป็นต่อการยังชีพในอนาคตด้วย


ความเชื่อเรื่องขนม และกับข้าวในงานแต่งงาน
ขนมที่นิยมและถือว่าเป็นมงคลได้แก่ขนมจีนถือเคล็ดว่าต้องเป็นจับใหญ่ สวย และไม่ขาดรุ่ย เป็นเส้นเรียบร้อยสวยงาม เชื่อว่าเป็นนิมิตที่ดีที่คู่บ่าวสาวจะครองรักกันยืดยาว ขนมฝอยทอง ก็เช่นเดียวกับขนมจีนที่ต้องเป็นเส้นยาวสมบูรณ์ จับเป็นแพได้สวยงาม นอกจากนี้ยังมี ขนมหม้อแกง ขนมชั้น ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีชื่อเป็นมงคล จึงนิยมนำมาเข้าพิธีมงคลและงานบุญ ส่วนที่ไม่นิยม ก็มีพวกต้มยำ แกงบวด หรือต้มผัก เพราะชื่อฟังแล้วไม่ค่อยเป็นมงคล รวมไปถึง พวกปลาร้าปลาเจ่า เพราะเกรงจะเกิดกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และข้าวต้มเพราะมักใช้เลี้ยงในงานศพ


การใช้หอยสังข์มาใส่น้ำพุทธมนต์หลั่งอวยพรให้คู่บ่าวสาว
ด้วยถือว่าหอยสังข์เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากกวนเกษียรสมุทรของเทพและอสูร โดยมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีอสูรตนหนึ่งมาลักพระเวทไปซ่อนไว้ในหอยสังข์ พระนารายณ์จึงได้อวตารไปปราบ หลังจากสังหารอสูรแล้ว จึงทรงล้วงเอาพระเวทออกจากหอยสังข์ ทำให้ปากหอยสังข์มีรอยพระหัตถ์ของพระนารายณ์ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าหอยสังข์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะเคยเป็นที่รองรับพระเวท การนำมาใส่น้ำมนต์รดให้คู่บ่าวสาวจึงถือว่าเป็นสิริมงคลการแต่งงานสมัยโบราณจะไม่มีการรดน้ำสังข์

ที่มา : 
http://www.trueplookpanya.com/true/blog_diary_detail.php?diary_id=1027

No comments:

Post a Comment

ขอบคุณจ้า..